HomeAbout usNewsPaperPresentationLibraryGraduate School at KU
 
 
 
 

     งานทางด้านวิศวกรรมปฐพีและฐานราก เป็นสาขาวิชาเฉพาะด้านวิศวกรรมโยธาที่มีผู้เชี่ยวชาญอยู่น้อยในขณะที่ลักษณะงานมีความจำเป็นต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขื่อน ถนน สนามบิน ฐานรากอาคาร การถมทะเล การป้องกันการพังทะลายของลาดดิน การฝังกลบขยะ เป็นต้น
     ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีอาจารย์ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในสาขานี้ถึง 9 ท่าน จึงเล็งเห็นว่ามีขีดความสามารถที่จะให้บริการเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ การวิจัย ตลอดจนให้คำแนะนำปรึกษาในงานเทคนิคที่เกี่ยวข้อง เป็นการบริการแก่สังคม หรือหน่วยงานที่มีความต้องการได้เป็นอย่างดี
     จากประสบการณ์การดำเนินการวิจัยทางวิศวกรรมปฐพีและฐานโดยเริ่มจากการปฎิบัติงานที่ปรึกษาโครงการซ่อมแซมและปรับปรุงเขื่อนมูลบนตั้งแต่เดือนธันวาคม 2535 และโครงการฐานข้อมูลเขื่อนเพื่อประเมินความปลอดภัยและบำรุงรักษาของสำนักงานชลประทานที่ 9 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2539 และโครงการต่างๆ ที่ตามมาอีกมาก โดยทุกโครงการได้ดำเนินการมาในลักษณะของหน่วยวิจัย โดยมีนิสิตระดับ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เข้ามาร่วมปฏิบัติด้วยในฐานะผู้ช่วยอาจารย์ที่รับผิดชอบในโครงการ และขณะเดียวกันก็สามารถทำงานวิจัย เพื่อเป็นวิทยานิพนธ์ได้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานรากจึงมีลักษณะของ "ศูนย์วิจัยเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะทาง" ที่สามารถดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อสังคมและ ยังทำให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการต่างๆ นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างงานวิจัยที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เช่น การร่วมมือกับ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ กรมทรัพยากรธรณี, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นต้น ในขณะเดียวกันได้สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับ มหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ผลประโยชน์ที่ศูนย์วิจัยฯ พึงได้ ได้นำกลับมาเป็นทุนเพื่อส่งเสริมการวิจัยและการศึกษา เพื่อต่อยอดการวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมปฐพีและฐานรากต่อไป

 
     1. ทำการวิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรมปฐพีและฐานราก เช่น วิศวกรรมเขื่อนดิน การปรับปรุงคุณภาพดิน เป็นต้น
     2. เก็บรวบรวมข้อมูล และเผยแพร่สิ่งตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับงานทางสาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก เพื่อประมวลและเผยแพร่เป็นความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องใช้เป็นเอกสารอ้างอิงหรือนำไปปรับปรุงงานออกแบบและก่อสร้างให้ประหยัดปลอดภัยและเหมาะสมกับประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
     3. ให้ความร่วมมือแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการกับหน่วยงานภายในประเทศและหน่วยงานนอกประเทศ เช่น มหาวิทยาลัย สมาคมวิชาชีพทางสาขาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก เป็นต้น
     4. ให้การบริการต่อหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ในลักษณะงานบริการต่างๆ